วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2550

โคลงการแก้มลิง กลุ่ม R&R

โครงการแก้มลิง
แก้มลิง : มาตรการผ่อนวิกฤติน้ำท่วมจากแนวพระราชดำริ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงภัยที่ร้ายแรงของวิกฤติน้ำท่วมกรุงเทพ ฯ และทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขบัญหาเพื่อผ่อนคลายทุกข์เข็ญของพสกนิกรหลายประการ อาทิ การเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล โดยผ่านแนวคลองทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ให้มีพื้นที่สีเขียว เพื่อกันการขยายตัวของเมืองและเพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม ขยายทางน้ำ หรือเปิดทางระบายน้ำในจุดเส้นทางคมนาคมสำคัญ ได้แก่ ทางหลวง และทางรถไฟ ประการสุดท้ายคือ การสร้างพื้นที่รับน้ำ หรือแก้มลิง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ชั่งคราว ก่อนระบายลงสู่ทางระบายน้ำหลัก โครงการแก้มลิง คือการจัดให้มีสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นบึงพักน้ำให้หน้าน้ำ โดยรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว ก่อนที่จะระบายลงทางระบายน้ำสาธารณะ ฉะนั้น เมื่อฝนตก น้ำฝนจึงไม่ไหลลงสู่ทางระบายน้ำในทันที แต่จะถูกขังไว้ในพื้นที่พักน้ำ รอเวลาให้คลองต่างๆ ซึ่งเป็นทางระบายน้ำหลักพร่องน้ำพอจะรับน้ำได้ จึงค่อยๆ ระบายน้ำลง เป็นการช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขัง ได้ในระดับหนึ่ง นอกจากวัตถุประสงค์เพื่อการระบายน้ำแล้ว แนวพระราชดำริ แก้มลิง จึงผสานแนวคิดในการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย กล่าวคือ เมื่อน้ำที่ถูกเก็บกักไว้ถูกส่งเข้าไปในคลองต่างๆ ก็จะไปบำบัด เจือจางน้ำเน่าเสีย ในคลองเหล่านี้ให้เบาบางลงแล้วในที่สุดก็จะผลักน้ำเน่าเสียที่เจือจางแล้วลงสู่ทะเล
การจัดหาและการออกแบบแก้มลิงเพื่อชะลอน้ำท่วม
วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการ ให้มีการชะลอน้ำ หรือพื้นที่เก็บกักน้ำ ก็เพื่อลดหรือชะลออัตราการไหลของน้ำผิวดิน ที่เกิดจากการไหลที่เพิ่มขึ้น โดยการใช้พื้นที่ระบายน้ำก่อนปล่อยให้ไหลลงสู่ระบบ ระบายน้ำสาธารณะ ในการพิจารณาออกแบบพื้นที่ชะลอน้ำหรือพื้นที่เก็บกักน้ำ จะต้องทราบปริมาตรน้ำผิวดินที่จะเก็บกักและอัตราการไหลผิวดินที่มากที่สุดที่จะยอมให้ปล่อยออกได้ในช่วงเวลาฝนตก ปริมาตรที่เก็บกัก ควรจะเป็นปริมาตรน้ำที่เพิ่มขึ้นเมื่อพื้นที่ระบายน้ำได้รับการพัฒนาแล้ว ในการจัดหาพื้นที่แก้มลิง ที่สำคัญที่สุดของการจัดหาพื้นที่ชะลอน้ำหรือพื้นที่เก็บกักน้ำ คือจะต้องพยายามจัดหาพื้นที่เก็บกักให้พอเพียง เพื่อที่จะได้ควบคุมอัตราการไหลออกจากพื้นที่ชะลอน้ำเหนือ พื้นที่เก็บกักน้ำไม่ให้เกินอัตราการไหลออกที่มากที่สุด ที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาการท่วมขังในระบบระบายน้ำสาธารณะหรือพื้นที่ต่ำ สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการจัดหาพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม (แก้มลิง) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการระบายน้ำ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยใช้เก็บกักน้ำฝนชั่งคราวก่อนระบายลง ระบบระบายน้ำสาธารณะ ซึ่งในชั้นแรกจะทำการจัดหาพื้นฝั่งพระนคร โดยมีเป้าหมายในการจัดหาพื้นที่เก็บกักน้ำปริมาตร 13ล้านลูกบาศก็เมตร ปัจจุบันสำนักการะบายน้ำได้จัดหาพื้นที่แก้มลิงได้จำนวน 20 แห่ง และมีความสามารถในการเก็บกักน้ำได้ 10,062,525 ลบ.ม. ส่วนในพื้นที่ทางด้านฝั่งธนบุรีจะมีคลองเป็นจำนวนมาก โดยคลองส่วนใหญ ่เห็นคลองตามแนวตะวันออกตะวันตก ซึ่งระบายน้ำออกทางด้านแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในช่วงฤดูน้ำหลากจากทางเหนือน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีระดับสูงขึ้น จึงควรใช้คลองหลักที่มีอยู่นั้นเป็นแก้มลิง โดยทำการสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการเก็บกักและระบายน้ำออกสู่ทะเล
ประเภทและขนาดของแก้มลิง
1. แก้มลิงขนาดใหญ่ ( Retarding Basin) คือ สระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ ที่รวบรวมน้ำฝนจากพื้นที่บริเวณนั้นๆโดยจะกักเก็บไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะระบายลงสู่ลำน้ำ การจัดสร้างพื้นที่ชะลอน้ำ หรือพื้นที่เก็บกักน้ำจะมีหลายประเภท คือ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทุ่งเกษตรกรรม เป็นต้น ลักษณะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะมีจะมีวัตถุประสงค์อื่น ประกอบด้วย เช่น เพื่อการชลประทาน เพื่อการประมง เป็นต้น
2. แก้มลิงขนาดกลาง เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ได้มีการก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง เป็นต้น
3. แก้มลิงขนาดเล็ก (Regulating Reservoir) คือแก้มลิงที่มีขนาดเล็กกว่า อาจเป็นพื้นที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น ลานจอดรถ หรือสนามในบ้าน ซึ่งต่อเข้ากับระบบระบายน้ำหรือคลอง
แก้มลิงที่อยู่ในพื้นที่เอกชน เรียกว่า “แก้มลิงเอกชน“ ส่วนที่อยู่ในพื้นที่ของราชการและรัฐวิสาหกิจจะเรียกว่า “แก้มลิงสาธารณะ”
ความจำเป็นในการดำเนินโครงการแก้มลิง
1. การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน จากลักษณะธรรมชาติ มาเป็นพื้นที่พัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ทำให้ปริมาณและอัตราการไหลสูงสุดของน้ำผิวดินในพื้นที่เพิ่มขึ้น
2. ปริมาตรและอัตราการไหลของน้ำผิวดินที่เพิ่มขึ้นของพื้นที่ทึบน้ำ จะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมทางด้านท้ายน้ำหรือที่ต่ำเพิ่มมากขึ้น ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจึงขยายตัวเพิ่มขึ้น ไปทางด้านเหนือน้ำ
3. ขนาดของคลองและความจุเก็บกักทางระบายน้ำเป็นประการสำคัญเพราะมีขนาดเล็กกว่าความสามารถในการรองรับปริมาณและอัตราการไหลสูงสุดของน้ำผิวดินที่เพิ่มขึ้นเพราะการรุกล้ำคูคลอง และพื้นที่สาธารณะ

ไม่มีความคิดเห็น: